สภาพดินฟ้าอากาศเมืองไทยในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงต่อบรรดาชีวิตและทรัพย์สินของบรรดาผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะทรัพย์สินอย่างบ้านของเรา เมื่อประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สถานที่อย่างบ้านที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็สามารถกลับกลายเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับผู้อยู่อาศัยได้เช่นกัน เคยสังเกตหรือไม่ ว่าลักษณะของบ้านที่อยู่อาศัย
สามารถรับมือกับความแปรปรวนทางสภาพอากาศได้มากน้อยแค่ไหน การริเริ่มสร้างบ้านโดยคำนึงถึงเหตุอันตรายต่าง ๆ หรือการสำรวจบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ว่ามีความทนทาน เหมาะสมหรือไม่ในเรื่องของการรับมือภัยธรรมชาติถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การออกแบบบ้านให้มีความสวยงามตรงตามใจผู้อยู่อาศัยเลยทีเดียว

ภาพ : Rudy and Peter Skitterians จาก Pixabay
ภัยพิบัติ
ที่ประเทศไทยเผชิญบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของลม และฝน ทั้งที่เกิดขึ้นตามแต่ฤดูกาลหรืออาจได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านหนุนนำ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกับสภาพที่อยู่อาศัยของผู้คนมิใช่น้อย เราจะเห็นข่าวที่ว่าบ้านเรือนของผู้ที่ประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงได้รับความเสียหายเกี่ยวกับบ้านเรือน เป็นต้นว่า หลังคาแตกหักหรือพัดหายไป หรือปัญหาน้ำท่วมที่อาจส่งผลให้โครงสร้างของบ้านได้รับความเสียหาย หักโค่น ต่าง ๆ นานา จนกระทั่งบ้านทั้งหลังถึงกับพังทลายพัดหายไปพร้อม ๆ กับกระแสน้ำเลยก็เป็นได้ หรือปัญหาแผ่นดินไหวที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นภายในประเทศไทย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนได้มหาศาลเลยทีเดียว แม้ไทยเราจะไม่ประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งใหญ่เหมือนในหลาย ๆ ประเทศ แต่แรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้บ้านเรือนของผู้อยู่อาศัยเกิดรอยร้าวที่มองไม่เห็นอยู่ภายในโครงสร้างและรอวันพังทลายโดยที่เราไม่อาจรู้ตัวก็เป็นได้

ภาพ : Angelo Giordano จาก Pixabay
ผู้ที่ริเริ่มจะมีบ้าน นอกจากเรื่องความสวยงามของรูปทรงหรือดีไซน์ที่ควรใส่ใจ ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ใช้สอยและการป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้ที่ริเริ่มจะมีบ้านต้องสำรวจที่ดินและสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่จะลงหลักปักฐานว่าสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่าง ๆ หรือไม่ ในกรณีที่ไม่อาจคาดเดาได้ก็สามารถยึดหลักการสร้างบ้านที่มีความหลอมรวมกับธรรมชาติ หรือการสร้างที่อยู่อาศัยอย่างเคารพธรรมชาติซึ่งสถาปนิกหรือนักออกแบบเกี่ยวกับบ้านมีการเสนอไอเดียและรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย เช่นเราจะเห็นได้ว่าบ้านสมัยใหม่อาจมีหลังคาหลายรูปแบบและหลากหลายรูปทรง หรือบางครั้งก็สร้างจากคอนกรีตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบ้าน ลดปัญหาพายุลมรุนแรงที่อาจพัดหลังคาพังเสียหายได้ การยกโครงสร้างบ้านเหนือพื้นดินเพื่อเป็นเส้นทางของลมและน้ำมีทางระบาย ลดความชื้นที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างของบ้าน เป็นต้น

ภาพ : Chickenonline จาก Pixabay,
การสร้างบ้านให้รับมือกับภัยพิบัติจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการป้องกันอันตรายต่อตัวบ้านและผู้อยู่อาศัย แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีบ้านมีอายุการใช้งานมาสักระยะหนึ่งหรืออยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน แน่นอนว่าบ้านย่อมมีความสึกหรอทั้งโครงสร้างภายในและภายนอก การสำรวจบ้านเมื่อมีสัญญาณเตือนแม้เพียงเล็กน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- ให้สำรวจโครงสร้างของบ้านที่สามารถแตกหักหรือเสียหายได้ง่าย เช่น หลังคามุงกระเบื้อง กระจก บานประตูหน้าต่าง เมื่อมีความเสียหายให้รีบซ่อมแซม ที่สำคัญอย่าลืมติดตามข่าวสารเรื่องของดินฟ้าอากาศเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่สุ่มเสียงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ต่อไปในอนาคต
#บ้านเสี่ยงภัยพิบัติ #ภัยธรรมชาติ